พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ กรุงอัมสเตอร์ดัม เป็นแหล่งการค้าและเจียระไนอัญมณีล้ำค่ามายาวนานหลายร้อยปี หนึ่งในนั้นคือ "เพชรบันจาร์มาซิน" ที่อื้อฉาวและเป็นปมขัดแย้งที่ยาวนานระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอดีตดินแดนในอาณานิคมอย่างอินโดนีเซีย เพชร 36 กะรัตเม็ดนี้เคยเป็นของสุลต่านแห่งเมืองบันจาร์มาซิน บนเกาะบอร์เนียว แต่เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1859 ที่ชาวเมืองบันจาร์มาซินได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการยึดครองของชาวดัตช์ ก็ทำให้ผู้ปกครองชาวตะวันตกเหล่านี้ส่งทหารเข้าปราบปราม และทำให้ชาวเมืองถูกสังหารไปจำนวนมาก ผู้ปกครองชาวดัตช์ได้นำของมีค่าต่าง ๆ รวมทั้งเพชรบันจาร์มาซินกลับไปยังเนเธอร์แลนด์ ด้วยหวังว่าจะขายหรือถวายอัญมณีชิ้นนี้แด่พระเจ้าวิลเลิมที่ 3 ทว่าพระองค์ไม่ประสงค์จะครอบครองมัน เนื่องจาก "เพชรที่น่าเกลียดและสกปรก" เม็ดนี้มีค่าใช้จ่ายในการตัดและเจียระไนแพงเกินไป ปัจจุบันเพชรบันจาร์มาซิน ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ ดร.คาโรลีน ดรีนฮาวไอเซน นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ ได้ศึกษาค้นคว้าถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเพชรเม็ดนี้ และได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบของเธอ ทางพิพิธภัณฑ์ได้ขึ้นป้ายกำกับไว้ที่ตู้จัดแสดงเพชรบันจาร์มาซินว่าเป็น "ของที่ปล้นมาในสงคราม" และระบุว่ารัฐบาลจะมีการตัดสินใจเรื่องการส่งคืน ขณะที่ชาวเมืองบันจาร์มาซินต่างต้องการทวงสมบัติของพวกตนกลับคืนไป "บางครั้งดิฉันก็ละอายใจเวลาคุยกับคนอินโดนีเซียถึงประวัติของมัน…ดิฉันคิดว่าเราไม่ควรยึดติดกับสมบัติทางวัฒนธรรมมากจนเกินไป เราควรส่งมันคืนสู่ผู้ที่เป็นเจ้าของโดยชอบธรรม" ดร.ดรีนฮาวไอเซนกล่าว